ภาษา
TH
ปรับขนาดตัวอักษร
กระบี่ เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก คำขวัญส่งเสริมการท่องเที่ยว : ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะ เพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย ใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน สวรรค์เกาะพีพี | แหล่งถ่านหิน ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะ เพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย ใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน สวรรค์เกาะพีพี
ประเพณี/วัฒนธรรม/เทศกาล
ลิเกป่า
คะแนนโหวต 3.90/5 คะแนน จากผู้โหวต 10 ท่าน

ลิเกป่า

              ลิเกป่าหรือลิเกแขกแดงเป็นการละเล่นพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคใต้ที่แพร่หลายในพื้นที่ของจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันตก เช่น ตรัง พังงา กระบี่ เป็นต้น การแสดงประเภทนี้ เริ่มมีมาสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่กล่าวกันว่าเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๔ ตรงกับสมัยพระยาอิศราธิชัย เป็นเจ้าเมืองกระบี่ได้ส่งเสริมให้มีการละเล่นลิเกป่ากันอย่างกว้างขวางในงานเทศกาลและงานอื่นๆ โดยทั่วไป จากนั้นจึงแพร่หลายไปสู่จังหวัดใกล้เคียง แหล่งที่มีคณะลิเกป่าในจังหวัดกระบี่ในปัจจุบันอยู่ในอำเภอเหนือคลอง และอำเภอเขาพนม               การแสดงลิเกป่าคณะหนึ่งมีผู้แสดงและนักดนตรีประมาณ ๑๐-๒๐ คน นักดนตรีทำหน้าที่เป็นลูกคู่ด้วย ลูกคู่บางคนอาจเป็นตัวแสดงด้วยในกรณีที่ต้องใช้ตัวแสดงมาก ตัวแสดงที่สำคัญมีแขกแดง ยายี เสนา และอาจมีตัวประกอบอื่นๆ เช่น นายด่าน เจ้าเมือง ญาติพี่น้อง ฝ่ายยายี เป็นต้น การแต่งกายลิเกป่ามีการแต่งกายดังนี้               

-แขกแดง สวมกางเกงขายาว นุ่งผ้าโสร่งทับเพียงเข่า สวมเสื้อแขนยาว สวมเสื้อนอกทับอีกทีหนึ่ง สวมหมวก ใส่หนวดหรือแต้มหนวด เครา บางครั้งก็มีสายสร้อยสวมด้วย เสริมจมูกให้โตแบบแขก ส่วนมากมักทำด้วยไม้ทาสีแดง               

-ยายี แต่งกายแบบผู้หญิงไทยมุสลิมภาคใต้หรือแต่งกายแบบผู้หญิงไทยทั่วๆ ไป แถบชายทะเลตะวันตก คือ นุ่งโสร่งปาเต๊ะสีต่างๆ สวมเสื้อแขนยาวบางครั้งก็มีผ้าคลุมผมด้วย               

-เสนา แต่งกายตามสะดวก เช่น สวมกางเกงนุ่งโสร่ง หรือนุ่งโจงกระเบน ไม่นิยมสวมเสื้อ บางคนอาจแต่งหน้าด้วยแป้งหรือฝุ่นสีตามที่เห็นว่าตลกขบขัน               

ตัวแสดงอื่นๆ แต่งกายตามสมัยนิยมเช่นกันถ้าแสดงเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปจากชุดแขกแดง ก็แต่งกายตามความเหมาะสมของท้องเรื่อง

โรงลิเกป่า               สมัยก่อนใช้แสดงบนพื้นดิน เช่น สนามหญ้า ลานวัด ลานบ้านเหมือนการแสดงมโนราห์ ปลูกโรงมีเฉพาะหลังคาทรงหมาแหงน ไม่มีฉาก มีเพียงม่านกั้น เพื่อแบ่งสัดส่วนสำหรับการแต่งกายของคณะลิเก ต่อมาในสมัยหลังลิเกป่าต้องไปแสดงในงานเทศกาลต่างๆ จึงมีการยกพื้นเป็นเวที ในปัจจุบันคณะลิเกป่าทุกคณะมักจะมีฉากสวยเหมือนลิเกประเภทอื่นๆ หรือเหมือนฉากมโนราห์ที่แสดงกันอยู่ทั่วไป

โอกาสในการแสดง               ในสมัยแรกๆ การแสดงลิเกป่าเป็นการแสดงเพื่อความสนุกสนานในหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อมีคนนิยมมากขึ้นจึงรับการแสดงในงานอื่น ๆโดยมีค่าการแสดงที่เรียกว่า “ค่าราดโรง” ลิเกป่าแสดงได้เกือบทุกโอกาสส่วนมากเป็นงานรื่นเริง เช่น งานประจำปี งานวัด งานแต่งงาน บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ ส่วนใหญ่แล้วไม่นิยมแสดงในงานศพ

แสดงความคิดเห็น